2007年9月1日土曜日


วัดพระฝาง หรือชื่อเต็มว่า วัดพระฝางสวางคบุรีมุนีนาถ ตั้งอยู่ที่บ้านฝาง หมู่ที่ 3 ต.ผาจุก อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์ เป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ตามทะเบียนวัดระบุว่า ประมาณปี พ.ศ. 1700 (ก่อนสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช)
ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เป็นวัดประจำเมืองสว่างคบุรี เมืองที่เจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย และวัดนี้เคยเป็นวัดที่จำพรรษาของ "เจ้าพระฝาง" เมืองสวางคบุรี ซึ่งอยู่ในสมณเพศแต่นุ่งห่มผ้าแดงและมิได้สึกเป็นฆราวาส ท่านได้ซ่องสุมผู้คนสมัยกรุงศรีอยุธยาแตกครั้งที่ 2 เพื่อจะกู้เอกราช
วัดพระฝางประกอบด้วยโบสถ์ อยู่ด้านหลังสุด มีบานประตูไม้แกะสลักสวยงาม พระธาตุเจดีย์ เป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ องค์เดิมปรักหักพังไปมากจึงบูรณะใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 4 พระวิหารหลวง หันหน้าไปทางทิศตะวันออก เดิมเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปเชียงแสน และมีบานประตูแกะสลักปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่วัดธรรมาธิปไตย

ประวัติ
"เจดีย์พระธาตุวัดพระฝาง" ซึ่งบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ สร้างขึ้นในสมัยสุโขทัย ได้มีการบูรณะครั้งใหญ่ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ
"วิหารใหญ่และพระอุโบสถเก่า่" สำหรับวิหารมีสถาปัตยกรรมแบบสุโขทัยลักษณะเดียวกับวัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง แต่เดิมมีพระพุทธรูปสมัยเชียงแสนประดิษฐานอยู่ แต่ปัจจุบันได้ถูกโจรกรรมไปแล้ว ด้านหลังวิหารเป็นองค์พระธาตุ มีกำแพงล้อมรอบ บริเวณหลังสุดมีพระอุโบสถเก่าอยู่อีกหลังหนึ่ง สภาพโดยทั่วไปชำรุดทรุดโทรมมาก เดิมมีบานประตูแกะสลักสวยงาม แต่ก็ได้ถูกขโมยไปแล้วเช่นกัน ด้านหน้าโบสถ์มีต้นมะม่วงใหญ่อายุหลายร้อยปีอยู่ต้นหนึ่ง บริเวณรอบนอกวัดด้านหลังเป็นป่าละเมาะ ส่วนด้านหน้ามีบ้านคนอยู่บ้างแต่ไม่หนาแน่น
จากหลักฐาน แสดงความสำคัญทางประวัติศาสตร์ รวมทั้งการบูรณะพระบรมธาตุสวางคบุรี ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พอประมวลได้ดังนี้ เมื่อปี พ.ศ. 2410 โปรดเกล้า ฯให้พระยามหาอำมาตยาธิบดีเป็นแม่กองสักเลข หัวเมืองฝ่ายเหนือขึ้นไป ตั้งอยู่ ณ เมืองพิษณุโลก และโปรดให้พระยาอุตรดิตถาภิบาล ผู้สำเร็จราชการเมืองอุตรดิตถ์เป็นแม่กองรับจ่ายเลข ข้าพระโยมสงฆ์ตามหัวเมืองฝ่ายเหนือ ทำการปฏิสังขรณ์พระเจดีย์วัดพระธาตุในเมืองสวางคบุรีที่เรียกกันว่า เมืองฝาง พระเจดีย์นั้นชำรุดมาก ต้องรื้อลงมาถึงชั้นทักษิณที่สาม เมื่อรื้ออิฐเก่าที่หักพังออกก็พบแผ่นเหล็กเป็นรูปฝาชีหุ้มผนึกไว้แน่น เมื่อตัดแผ่นเหล็กออกจึงพบผอบทองเหลือง บนฝาผอบมีพระพุทธรูปองค์เล็กบุทองคำฐานเงินอยู่องค์หนึ่ง ในผอบมีพระบรมธาตุขนาดน้อยสีดอกพิกุลแห้ง 1,000 เศษ แหวน 2 วง พลอยต่างสี 13 เม็ด เมื่อพระยาอุตรดิตถาภิบาลมีใบบอกมา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้จัดเรือม่านทองให้ข้าหลวงขึ้นไปรับ เชิญพระบรมธาตุมาขึ้นที่กรุงเก่า เชิญขึ้นไว้ที่พระตำหนักวังป้อมเพชร แล้วจัดเรือพระที่นั่งสยามอรสุมพลมีปี่พาทย์ แตรสังข์ รับเชิญลงมากรุงเทพ ฯ เชิญขึ้นไว้ ณ พระตำหนักน้ำ ทำการสมโภชแล้วเชิญไปประดิษฐานไว้ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทรงมีพระราชดำริว่าควรที่จะส่งพระบรมธาตุคืน ให้ไปบรรจุไว้ตามที่ดังเก่าบ้าง แบ่งไว้สักการะบูชา ณ กรุงเทพ ฯ บ้าง จึงโปรดเกล้า ฯ ให้ช่างหลวงทำกล่องทองคำเป็นที่บรรจุพระบรมธาตุชั้นใน แล้วใส่กล่องเงินเป็นชั้นที่สอง ใส่ในพระเจดีย์กาไหล่เงินเป็นชั้นที่สาม แล้วใส่ในพระเจดีย์ทองเหลืองเป็นชั้นที่สี่ แล้วใส่ครอบศิลาตรึงไว้แน่นหนา ให้เจ้าพนักงานเชิญพระบรมธาตุใส่พระเสลี่ยงน้อยกั้นพระกรด ไปตั้งบนบุษบกที่พระตำหนักน้ำ พร้อมเครื่องสักการะบูชา มีเรือกรมการและราษฎรเมืองนนทบุรี แห่เป็นกระบวนขึ้นไปส่งถึงเมืองปทุม แล้วผู้สำเร็จราชการเมืองกรมการตั้งแต่เมืองปทุมธานีขึ้นไป จัดแจงทำสักการะบูชา แล้วจัดเรือแห่มีปี่พาทย์ฆ้องกลองเล่นสมโภชตามมีรับส่งต่อ ๆ จนถึงเมืองสวางคบุรี

ปูชนียสถาน โบราณวัตถุ
บานประตูวิหารวัดพระฝางสวางคบุรีมุนีนาถ เดิมอยู่วัดพระฝางสวางคบุรีมุนีนาถแต่เนื่องจากวิหารชำรุดทรุดโทรมมาก เจ้าคณะสงฆ์จังหวัดอุตรดิตถ์ในสมัยนั้นจึงได้ขออนุญาตกรมศิลปากรนำมาเก็บรักษาไว้ที่ อาคารธรรมสภา วัดธรรมาธิปไตย มาตั้งแต่เดือน กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2494
บานประตูคู่นี้แกะสลักในสมัยอยุธยา แต่ละบานขนาดกว้าง 1.2 เมตร สูง 5.3 เมตร และหนาถึง 16 เซนติเมตร ทำจากไม้ปรูแกะสลักเป็นลายกนกก้านขด ลายพุ่มทรงข้าวบิณฑ์ บานละ 7 พุ่ม ระหว่างพุ่มทรงข้าวบิณฑ์มีกนกใบเทศขนาบ สองข้างขวามือด้านบนมีอกเลาประตูอยู่ตรงกลาง แกะสลักเป็นลายเทพพนม ตอนบนอกเลา 4 องค์ตอนล่างอกเลา 4 องค์ กล่าวกันว่างดงามเป็นที่สองรองจากประตูวิหารวัดสุทัศน์ในกรุงเทพฯ

บานประตูวัดพระฝาง
"เจ้าพระฝาง"เป็นชาวเหนือ บวชพระแล้ว ลงมาร่ำเรียนพระไตรปิฎกที่อยุธยา สมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เชี่ยวชาญได้ชั้นมหา เรียกตามชื่อเดิมว่า "มหาเรือน"
โปรดเกล้าฯ เป็นพระราชาคณะ ที่ พระพากุลเถระ อยู่วัดศรีโยธยาได้ไม่นาน ก็โปรดเกล้าฯ...ให้เป็น พระสังฆราชา ณ เมืองสวางคบุรี (เมืองฝาง) มีผู้คนเคารพนับถือมาก สร้างพระประธานองค์สำคัญไว้ในโบสถ์วัดสวางคบุรี
ครั้นเมื่อรู้ว่ากรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า เจ้าพระฝางก็ซ่องสุมผู้คนได้หลายเมือง ตั้งตัวเป็นเจ้า แต่ไม่ยอมสึกจากพระ เปลี่ยนสีจีวรจากสีเหลืองเป็นสีแดง นับเป็นชุมนุมใหญ่ฝ่ายเหนือ ประชาชนเรียกกันว่า "เจ้าพระฝาง"
ปีชวด...พ.ศ. 2311 เจ้าพิษณุโลก ผู้นำชุมนุมสำคัญถึงแก่พิราลัย พระอินทรอากรผู้น้องขึ้นครองเมือง เจ้าพระฝางยกกองทัพไปตีพิษณุโลก สู้รบกันสามเดือน ชาวเมืองไม่ชอบเจ้าพิษณุโลกองค์ใหม่ แอบเปิดประตูรับกองทัพเจ้าพระฝางเข้าเมือง
ชนะพิษณุโลก ประหารพระอินทรอากรแล้ว เจ้าพระฝางก็สั่งให้ขนทรัพย์สินจากเมืองพิษณุโลก และอพยพผู้คนไปปักหลักอยู่ที่เมืองสวางคบุรี ชื่อ เสียงของชุมนุมเจ้าพระฝางก็ยิ่งเลื่องลือระบือไกล
สองปีต่อมา กรมการเมืองอุทัยธานี และเมืองชัยนาท กราบทูลพระเจ้ากรุงธนบุรีว่า เจ้าพระฝางประพฤติเป็นพาลและทุศีลมากขึ้น ตัวยังห่มผ้าเหมือนพระ แต่ ประกอบกรรมปาราชิก พวกพระที่เป็นแม่ทัพนายกองก็ออกปล้นข้าวปลาอาหารจากราษฎร เดือดร้อนกันไปทั่ว
พระเจ้ากรุงธนฯ โปรดให้พระยาพิชัยราชา คุมทัพไปทางตะวันตก ให้พระยายมราช (กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ในรัชกาลที่ 1) คุมทัพไปทางตะวันออก สองทัพสมทบกันโจมตีเมืองสวางคบุรี
สภาพเมืองสวางคบุรี ที่มั่นเจ้าพระฝาง ไม่มีกำแพง มีแต่ระเนียดไม้ขอนสักถมเชิงเทินดิน เจ้าพระฝางสู้ได้สามวันก็แตกพ่ายหนี พาลูกช้างพังเผือกหนีไปด้วย กองทัพพระเจ้ากรุงธนฯติดตามไป ได้ช้างพังเผือกคืน ตัวเจ้าพระฝางหายสาบสูญไป
โปรดให้มีละครหญิง สมโภชพระประธานวัดสวางคบุรี 7 วัน นับเป็นงานใหญ่เทียบเท่างานสมโภชพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ ที่พิษณุโลก

วัดพระฝางวัดพระฝาง ประวัติเจ้าพระฝาง "ชุมนุมเจ้าพระฝาง"
ในปี พ.ศ. 2444 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) โปรดให้อัญเชิญองค์พระประธาน ที่เรียกกันว่า "พระฝาง" ลงมายังวัดเบญจมบพิตร กรุงเทพฯ โดยทิ้งฐานพระไว้ที่เดิม
พ.ศ. 2451 ปรากฏพระราชหัตถเลขา ถึงสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ความว่า "ให้จำลองรูปพระฝาง ได้สั่งให้ช่างรีบปั้นหุ่นถ่ายรูปไว้แล้ว ให้กระทรวงมหาดไทยคิดจัดพระฝางกลับคืนไปไว้ที่เมืองฝางตามเดิมให้ทันฤดูน้ำ นี้"
แต่ในปัจจุบันนี้ เกินเวลาหนึ่งร้อยปีแล้ว องค์พระฝางก็ยังประดิษฐานอยู่วัดเบญจมบพิตร มิได้กลับคืนไปอุตรดิตถ์ ตามพระราชดำริแต่ประการใด
ในปี พ.ศ. 2549 คณะสงฆ์และหน่วยงานราชการในจังหวัดอุตรดิตถ์ ได้ร่วมใจหล่อพระฝางทรงเครื่อง (จำลอง) องค์ใหม่ โดย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ทรงประกอบพิธีเททองหล่อพระฝางทรงเครื่อง ณ วัดเบญจมบพิตร เมื่อวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2549 เพื่อนำ พระฝางทรงเครื่อง (จำลอง) ที่ได้หล่อขึ้นใหม่ กลับสู่จังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจและเคารพสักการะของชาวพระฝางและชาวจังหวัดอุตรดิตถ์สืบไป

0 件のコメント: